Oct 5, 2021 107812

“น้ำพริก” คนไทยกินมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

share this:

“น้ำพริก” คนไทยกินมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

น้ำพริก เป็นเมนูทำง่าย อยู่คู่ครัวชาวไทยมาอย่างช้านาน เป็นที่นิยมในครัวเรือนทั่วประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เมืองไทยมีเมนูน้ำพริกหลากหลายมาก แต่ละภาคมีวิธีการทำที่แตกต่าง รสชาติก็ต่างกัน

ในวันที่ไม่ต้องการทานอาหารหนักมาก มีน้ำพริกอร่อยๆสักถ้วย ผักสดๆกรอบๆสักจาน บางท่านมีปลาทูทอดร่วมด้วย ทานกับข้าวสวยร้อนๆก็ทำให้หนึ่งวันเป็นวันที่มีความสุขได้ ในความเรียบง่ายของน้ำพริก แต่ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยรสอร่อยกลมกล่อม แถมยังดีต่อสุขภาพอีกด้วย แต่เคยสงสัยกันมั้ยว่า ที่เห็นคนไทยกินน้ำพริกกันอย่างแพร่หลาย ต้นกำเนิดของมันคืออะไร คนไทยกินน้ำพริกกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่?

01 ชื่อน้ำพริก ก็ต้องใส่พริก ใส่กะปิ

ก่อนจะหาคำตอบนี้ไปพร้อมๆกัน ถ้าลองเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี พ.ศ. 2554 นิยามคำว่า “น้ำพริก” พบว่าเป็นอาหารที่ปรุงด้วยพริก กะปิ เป็นสำคัญ ใช้เป็นเครื่องจิ้่มหรือคลุกข้าวกิน ดังนั้น ก็พอจะสรุปได้ว่า ขึ้นชื่อน้ำพริกก็ต้องใส่พริก ใส่กะปิแบบนั้น

ความน่าสนใจของมันก็คือ ของทั้งสองอย่างที่นำมาผสมกันเป็นน้ำพริกนั้น มีที่มาที่แตกต่างกันมาก จึงถือเป็นการรวมร่างสร้างรสชาติใหม่ที่น่าสนใจทีเดียว เพราะว่า พริก เครื่องเทศที่ให้ความเผ็ดร้อนนี้ ไม่ได้เป็นพืชพื้นเมืองของไทย แต่มีแหล่งกำเนิดในทวีปอเมริกา ก่อนต่อมาจะถูกนำไปปลูกที่สเปน ในทวีปยุโรปโดยคณะของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักเดินเรือคนดังที่ได้เดินทางไกลเพื่อเสาะหาเครื่องเทศซึ่งยุคนั้นถือเป็นสิ่งมีค่ายิ่งกว่าทองคำ

มีบันทึกไว้ว่า ปีเตอร์ มาทิล ที่มีฐานะเป็นลูกเรือของโคลัมบัส ได้นำพริกกลับมาด้วย ดังนั้น ผู้ชายคนนี้จึงถือเป็นบุคคลสำคัญ ที่ทำให้พริกแพร่หลายไปทั่วโลก เพราะอย่างที่รู้กันทุกวันนี้คนทั้งโลกรู้จักการทานพริก คนไทยเองก็ชอบ ดังจะเห็นได้จากอาหารรสจัดหลากเมนูที่ต้องมีพริกเป็นส่วนประกอบที่สำคัญเสมอ

แต่ก่อนจะมาถึงเมืองไทย พริกเข้ามาในทวีปเอเชียครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย จากนั้นก็ค่อยเข้ามาบ้านเราในสมัยกรุงศรีอยุธยา ผ่านการนำเข้ามาของชาวโปรตุเกสซึ่งมาทำการค้าขายทางเรือ เข้ามาเมื่อใดไม่มีบันทึกชัดเจน เท่าที่ทราบในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อย่างที่เราเคยเห็นในละครบุพเพสันนิวาส ตอนนั้นคนไทยก็กินพริกกันแล้ว แม่การะเกดเองก็รู้จักวิธีการตำน้ำพริก

ส่วนกะปิ นั้นถือเป็นอาหารท้องถิ่นของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างแท้จริง กะปิเกิดจากการเอากุ้งมาดอง เป็นการถนอมอาหารอย่างหนึ่งเพื่อจะทำให้เก็บไว้กินได้นานๆ โดยภูมิภาคนี้นิยมทานกันกะปิกันโดยทั่วไป ประเทศไทยก็ด้วย นิยมมาตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่แน่ชัด แต่คาดว่ามาก่อนพริก เพราะถ้ามองตามสถานะกะปิเป็นของท้องถิ่น ส่วนพริกเป็นของนอกที่เพิ่งจะเข้ามาในเมืองไทยภายหลัง

ต้นกำเนิดของกะปิ สันนิษฐานน่าจะมาจากคาบสมุทรมลายูและทางตอนใต้ของประเทศไทย ก่อนจะแพร่กระจายไปยังประเทศหมู่เกาะข้างเคียง ทุกวันนี้หากเดินทางไปที่ไหนในภูมิภาคนี้ก็จะสามารถหาซื้อกะปิได้ทั้งหมด กะปิภาษามาเลย์เรียก เบลาจัน (Belacan) อินโดนีเซียเรียก เตราซี (Terasi) ส่วนพม่าเรียก งาปิ๊ (Ngapi) ซึ่งใกล้เคียงกับชื่อกะปิของคนไทย

ทั้งสองอย่างนี้ พอเอามารวมกันกลายเป็นน้ำพริก เข้ากันได้ดี อร่อยเหาะอย่าบอกใคร เหมือนดาวคู่เดือนที่ต้องมาพร้อมกัน เคยเห็นบางสูตรใส่อย่างอื่นแทนกะปิก็ไม่ว่ากัน หากแต่ของแท้ดั้งเดิมขาดไม่ได้ก็คือ พริกกับกะปินี่แหละ


02 คนไทย มีน้ำพริกกินตั้งแต่สมัยอยุธยา

หลักฐานที่สำคัญที่สามารถยืนยันได้ว่า คนไทยกินน้ำพริกมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ได้แก่ จดหมายเหตุของลาลูแบร์ ผู้ซึ่งเป็นราชทูตจากประเทศฝรั่งเศสที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทยในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยลาลูแบร์ ได้บันทึกเกี่ยวกับอาหารชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นน้ำจิ้มไว้ว่า “น้ำจิ้มของพวกเขาทำกันอย่างง่ายๆ ใช้น้ำนิดหน่อยกับเครื่องเทศ, หัวกระเทียม, หัวหอม กับผักลางชนิดที่มีกลิ่นดี เช่น กะเพรา พวกเขาชอบบริโภคน้ำจิ้มเหลวชนิดหนึ่ง คล้ายกับมัสตาร์ด ประกอบด้วยกุ้งเคยเน่าเพราะหมักไม่ได้ที่ เรียกว่ากะปิ”

กฤช เหลือลมัย นักโบราณคดีผู้สนใจศึกษาเรื่องอาหารไทย ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับบันทึกนี้ไว้ว่า สิ่งที่ลาลูแบร์เห็น ก็คือน้ำพริกกะปินั่นเอง ด้วยเหตุนี้ จึงสรุปได้ว่า คนไทยกินน้ำพริกกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว และสืบต่อวัฒนธรรมนี้มาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ก็อ้างอิงตามหลักที่เก่าแก่ที่สุดที่ค้นพบในปัจจุบัน

โบราณว่าเกิดเป็นหญิง ถ้าตำน้ำพริกไม่ดัง ระวังขึ้นคาน !

คติความเชื่อโบราณอย่างหนึ่งที่เกี่ยวกับ น้ำพริก เมนูอาหารคู่ครัวคนไทย ถ้าเคยดูละครดังอย่าง บุพเพสันนิวาส จะมีตอนหนึ่งที่แม่หญิงการะเกด นำแสดงโดยเบลล่า ราณี ฝึกทำกับข้าวในครัวแล้วต้องตำน้ำพริกให้แรงๆ เสียงดังๆ เคยสงสัยกันมั้ยว่า ทำไมเกิดเป็นหญิงไทยถึงต้องฝึกตำน้ำพริกให้เสียงดัง?


01 คติผู้หญิงโบราณ อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน

สังคมไทยสมัยเก่าก่อนมีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจนในครอบครัว ดังที่เราเคยได้ยินกันมาบ้างว่า ผู้ชายนั้นเปรียบเสมือนช้างเท้าหน้า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง ผู้ชายมีหน้าที่หลักในการหาปัจจัยมาเลี้ยงดูจุนเจือครอบครัว บ้างก็ไปรบเมื่อยามสงคราม ส่วนผู้หญิงจะรับผิดชอบการงานภายในบ้านทั้งหมด เลี้ยงดูลูก ปรนนิบัติสามี รวมไปถึงสกิลการทำกับข้าวที่เรียกกันว่า สเน่ห์ปลายจวัก

ตั้งต้นในปี พ.ศ.2564 พอมองย้อนกลับไปจะรู้สึกว่าการเป็นกุลสตรีไทยนั้นเป็นยาก ก็เพราะข้อปฎิบัติที่มีอย่างมากมาย และบางอย่างที่ดูล้าสมัยไปแล้วเนื่องด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป จนความเชื่อโบราณนั้นไม่ได้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในสังคมสมัยใหม่อีกต่อไป เพราะสมัยนี้เงินทองหายากคนนิยมอยู่เป็นโสดกันมากขึ้น แต่สมัยก่อนการแต่งงานออกเรือนนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญ และผู้หญิงเองนั้นก็ยังอยู่ในฝ่ายที่ต้องถูกเลือก ต้องรอให้ฝั่งผู้ชายเป็นคนมาขอ โดยผ่านพ่อแม่ของฝ่ายหญิงอีกทีตามธรรมเนียมของคนไทยเรา การที่ผู้ชายจะเลือกผู้หญิงสักคนมาเป็นภรรยา หรือมาเป็นลูกสะใภ้ของพ่อแม่ สิ่งที่นิยมใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินเกณฑ์หนึ่งว่า ผู้หญิงนั้นดีหรือไม่ดี สิ่งนั้นก็คือ สกิลการทำกับข้าว และการตำน้ำพริกนั่นเอง


02 ต้องตำน้ำพริกให้เป็น ให้ดังถี่ จะไม่ขึ้นคาน

คนไทยรู้จักการกินน้ำพริกมานานแล้ว อย่างที่ปรากฏหลักฐานชัดเจนก็ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา น้ำพริกจึงเป็นอาหารสำคัญคู่ครัวคนไทย สกิลการตำน้ำพริกจึงจัดรวมอยู่ในหมวดหมู่สเน่ห์ปลายจวักของสตรีไทยด้วย สมัยก่อนถ้าผู้หญิงคนไทยทำอาหารได้อร่อยมากจะถือว่าเป็นคนที่มีความสามารถ ผู้หญิงลักษณะนี้จะเป็นที่ต้องตาต้องใจของชายหนุ่มโดยทั่วไป คือ เก่งงานบ้านงานเรือน ใครๆก็อยากได้เป็นลูกสะใภ้ เพราะถือกันว่าเป็นหญิงที่ถูกอบรมมาดี ส่วนหญิงใดไม่เก่งเรื่องนี้ ก็ต้องเหนื่อยหน่อยพูดกันตรงๆคือ มีโอกาสขึ้นคานสูงกว่า ผู้หญิงในกลุ่มแรกที่เป็นแม่ศรีเรือนที่ดี

ไม่ใช่จะอะไรก็ได้ เสียงตำน้ำพริกที่ดีจะต้องดังและถี่สม่ำเสมอจึงจะถือว่าเป็นเสียงตำที่ดี และเรื่องเล่าจำพวก ผู้ชายและพ่อแม่ฝ่ายชายลงทุนไปฟังเสียงตำน้ำพริกให้ได้ยินด้วยตาของตนเองก่อนจะเลือกผู้หญิงคนนั้นมาเป็นภรรยา ไม่ใช่เรื่องเกินจริงเลย ถ้ามีโอกาสได้ลองคุยกับคนเฒ่าคนแก่สักหน่อยก็จะได้รับการยืนยันว่าเหล่านี้เป็นความจริงทั้งสิ้น

อย่างเนื้อเพลงท่อนสุดท้ายของ เพลงลูกทุ่งดังในอดีต “เทพธิดาผ้าซิ่น” ของ เสรี รุ่งสว่าง ก็เคยเขียนไว้ว่า “บ้านเรือนสะอาดตา พูดจาเสนาะดี ตำน้ำพริกทุกที เสียงตำถี่จนทุ่งสะเทือน” สะท้อนความเชื่อนี้ได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว แต่กระนั้นเองก็อย่าเพลินตำแรงเกินจนครกแตก เพราะโบราณเค้าก็ถือกันว่าไม่ดี จะเป็นอัปมงคล โดยตามความเชื่อของคนล้านนา หญิงสาวบางคนพลาดทำครกแตกเพราะพลั้งเผลอ ถึงขั้นต้องบวชชีแก้ซวยกันเลยก็มี


ดังนั้น สมัยก่อนถ้าหญิงสาวไม่อยากขึ้นคาน ก็ต้องฝึกทำกับข้าวให้เชี่ยวชาญ ฝึกตำน้ำพริกให้เป็น ต้องตำให้ดัง ให้ดี แต่สมัยนี้คงไม่ต้องแล้ว เพราะใครไม่ถนัดเรื่องทำกับข้าวจะซื้อกินก็ได้มีขายอยู่ทั่วไป ผู้ชายผู้หญิงทุกวันนี้เท่าเทียมกันมากกว่าแต่ก่อน ผู้หญิงมีความสามารถและทำทุกอย่างได้เหมือนกับผู้ชาย ไม่มีใครต้องอยู่แต่กับบ้านแล้ว เว้นแต่ใครชอบทำกับข้าวจะมีสกิลตำน้ำพริกเอาไว้ติดตัวก็ไม่ว่ากัน


น้ำพริกปลาทู เคยเป็นอาหารคนจนจริงหรือ?

01 ปลาทู ปลาขี้เหร่ มีมากหาจับได้ง่าย

ไม่แน่ใจว่าสมัยเด็กๆยังมีท่านใดได้ท่องบทอาขยานนี้หรือเปล่า? ย้อนเวลากลับไปในหนังสือประถม ก กา หัดอ่าน หนังสือแบบเรียนสำหรับเด็กๆเอาไว้ฝึกอ่านภาษาไทยที่ใช้กันมาอย่างช้านาน ในบท แม่ ก กา ซึ่งอยู่ช่วงแรกของเล่ม จะมีอยู่วรรคหนึ่งบอกว่า

“ปลาทูอยู่ทะเล ปลาขี้เหร่ไม่สู้ดี

ซื้อเขาเบาราคา ปลาขี้ค่าใช่ผู้ดี”

หนังสือเล่มนี้ถูกแต่งไว้นานมากแล้ว และไม่ปรากฎชื่อผู้แต่ง ถูกพิมพ์ต่อกันมาเรื่อยๆ แต่คาดว่าพิมพ์ครั้งแรกสมัยรัชกาลที่ 3 ราวปี พ.ศ. 2433 โน่นเลย ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจของมันก็คือ เนื้อความที่พูดถึงปลาทูนี่แหละ เพราะ แสดงให้เห็นเลยว่าสถานะของปลาทูในสมัยก่อนเป็นอย่างไร ทั้งขี้เหร่ ทั้งถูกเหยียดว่าเป็นปลาชั้นต่ำที่ผู้ดีเขาไม่กินกัน อนิจจาโอ้เจ้าปลาทู นี่ถ้าเกิดมาเป็นคนคงชอกช้ำไม่น้อย

ปลาทูไทย จริงๆก็คือ ปลาแมคเคอเรล(แบบเดียวกับที่เอาไปทำปลากระป๋องในซอสมะเขือเทศ) แต่เป็นสายพันธุ์เฉพาะที่มีแหล่งที่อยู่อาศัยในอ่าวไทย ที่อื่นไม่มี ปลาทูเลยถูกเรียกกันว่า ไทยแมคเคอเรล ว่ากันว่า ปลาทูไทยนี้คือสุดยอดของความอร่อย เพราะเนื้อแน่น และมีมันมาก แถมยังมีคุณค่าทางโภชนาการที่ดี ให้โปรตีนสูง เอาไปทำเป็นอาหารอะไรก็อร่อย

ที่สำคัญ ปลาทูนี้มีมาก หาจับได้ง่ายโดยทั่วไป จึงกลายเป็นไอเท็มสำคัญของคนรายได้น้อยไปในที่สุด ประมาณว่า แค่มีปลาทูทอดกับน้ำพริกสักถ้วยก็อิ่มท้องได้ ไม่ต้องใช้เงินมาก ทั้งนี้รวมถึงคนที่ชอบกินอะไรง่ายๆไม่ซับซ้อน ใช้ชีวิตไม่ฟุ้งเฟ้อ หลายคนก็มีเมนูโปรดเป็นน้ำพริกปลาทูเสมอ


02 น้ำพริกปลาทู อาหารที่ทุกคนเข้าถึงได้

ประเทศไทยสมัยนายกรัฐมนตรีจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีช่วงเวลาที่เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงอันเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนนั้นรัฐบาลจึงออกนโยบายให้คนไทยหันมากินก๋วยเตี๋ยวแทน หรือถ้าอยากกินข้าว ก็ให้กินแต่เพียงน้อยๆกินกับให้มากกว่าเพราะข้าวสารขาดตลาดและมีราคาแพงมาก ในโปสเตอร์ที่ใช้โฆษณาอันหนึ่ง มีรูปผู้หญิงกำลังนั่งทานข้าว บนโต๊ะนั้นมีน้ำพริกปลาทูอยู่ด้วย หรือในสมัยหนึ่งเวลามีประกวดนางสาวไทย พิธีกรจะถามผู้เข้าประกวดว่า ชอบกินอะไร สาวๆหลายคนก็มักจะตอบว่า ชอบกินน้ำพริกปลาทูค่ะ

หรือในวงการเพลงบ้านเรา อย่างที่ดังๆก็มี 2 เพลงพูดถึงน้ำพริกปลาทู เพลงแรกขับร้องโดยมีศักดิ์ นาครัตน์ ชื่อเพลง “น้ำพริกปลาทูไทย” เพลงนี้เอาทำนองมาจากเพลงสุกี้ยากี้เพลงญี่ปุ่นที่โด่งดังมากๆในช่วงนั้น ส่วนอีกเพลงชื่อ “น้ำพริกปลาทู” ขับร้องโดยสามารถ พยัคฆ์อรุณ อดีตนักชกขวัญใจชาวไทยที่หันมาจับไมค์ร้องเพลง ท่อนท้ายสุดของเพลงนี้ค่อนข้างน่าสนใจเพราะสามารถแกร้องว่า


“เงินทองก็ยังพอหาได้ น้อยไปก็ยังพอมีอยู่

ไม่มีสเต็กสตู ปลาทูน้ำพริกยังมี”

เหล่านี้สะท้อนถึงความเรียบง่ายของน้ำพริกปลาทูได้เป็นอย่างดี คือ ทุกคนเข้าถึงได้และมีราคาไม่แพง แม้ว่าปลาทูจะติดภาพความเป็นอาหารคนรายได้น้อยอย่างที่ได้เล่าไป แต่ความจริงแล้วขนาดรัชกาลที่ 5 เองก็ชอบกินกะปิกับปลาทู ถือเป็นเมนูโปรดของท่านเลย ถ้าเคยไปกินข้าวตามร้านอาหารเก่าๆหน่อย มักจะเห็นภาพของรัชกาลที่ 5 กำลังนั่งทอดบางอย่างอยู่ ซึ่งสิ่งนั้นคือ ปลาทูนี่เอง โดยเชื่อกันว่าบูชาภาพนี้แล้วจะทำมาค้าขายดี มีความร่ำรวยนั่นเอง


03 ปลาทูกำลังจะหมดจากประเทศไทย

ช่วงหลังๆมานี้ มีความกังวลเป็นอย่างมากว่าปลาทูกำลังจะหมดไปจากท้องทะเลไทย สถิติการจับปลาทูได้ในอ่าวไทยลดลงเป็นอย่างมากในขณะเดียวกันความต้องการบริโภคในประเทศก็ยังสูงอยู่เหมือนเดิม ทุกวันนี้ปลาทูที่เรากินมีสัดส่วนปลาทูนำเข้ามากกว่าปลาทูที่จับได้ในประเทศซะอีก และนี่คือเหตุผลว่าทำไมทุกวันนี้น้ำพริกปลาทูถึงมีราคาแพง หลายฝ่ายเองก็เข้ามาดูแลแล้ว มีการออกกฎหมายต่างๆเพื่อแก้ไขปัญหานี้ โดยมุ่งหมายให้ปลาทูยังมีอยู่ในอ่าวไทยต่อไป ไม่สูญพันธุ์

ในสมัยก่อนนั้นใช่ หากทุกวันนี้จะเรียกน้ำพริกปลาทู ว่าเป็นอาหารของคนจนคงไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะมีราคาแพงมาก ส่วนในอนาคตนั้นยังไม่แน่ใจ แต่จากแนวโน้มก็น่าจะมีราคาเพิ่มสูงขึ้นอีก หากสถานการณ์ปลาทูในบ้านเรายังไม่ดีขึ้น

ยุคปี พ.ศ. 2564 ปลาทูมีราคาแพง คงต้องยกให้เป็นอาหารพรีเมี่ยม ไม่ใช่อาหารคนจนอีกต่อไป

ย้อนรอยเพลงลูกทุ่งดัง กินอะไรถึงสวย - กินข้าวกับน้ำพริก


“กินอะไรเล่าเธอถึงได้งามแสนงามงามล้ำเกินคน

กินอะไรหน้ามนถึงได้งามแสนงาม งามเลิศวิไล


เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินเพลงลูกทุ่งดังเพลงนี้ผ่านหูกันมาบ้างไม่มากก็น้อย แต่เคยสงสัยกันมั้ยว่า สรุปคนงามที่นักร้องเอ่ยถึงในเพลงนี้ เค้ากินอะไร แล้วเค้าเป็นใครมีตัวตนจริงๆหรือไม่?


01 คำตอบคือ กินข้าวกับน้ำพริก

เพลงแรกที่ต้องพูดถึงก่อนมีชื่อว่า “กินอะไรถึงสวย” ออกแพร่เผยครั้งแรกก็ต้องย้อนกลับไปสมัยปี พ.ศ. 2518 ขับร้องโดยนักร้องลูกทุ่งในตำนานอย่าง สายัณห์ สัญญา อีกเพลงนึงเป็นเพลงผู้หญิงร้องแก้ ชื่อเพลง “กินข้าวกับน้ำพริก” ขับร้องโดย แม่ผ่องศรี วรนุช ออกมาในปีเดียวกัน ในส่วนของทำนองหยิบยืมมาจากเพลงไทยเดิมชื่อ “ต้นวรเชษฐ์” เนื้อร้องของทั้งสองเพลงแต่งโดยครูชลธี ธารทอง นักเขียนเพลงลูกทุ่งมือทองของวงการอีกหนึ่งคน สมฉายาเทวดาเพลง

สำหรับที่มาของทั้งสองเพลงนี้ บุญเลิศ คชายุทธเดช เคยเล่าให้ฟังในหนังสือ ชลธี ธารทอง เทวดาเพลง ภาคสมบูรณ์ที่ตัวเค้าเป็นคนเขียนเองว่า วันนั้นครูชลธีไปกินข้าวแถวราชวัตร พบเด็กเสิร์ฟนางหนึ่งหน้าตาสะสวย หุ่นก็ดี เลยถามไปแบบแซวๆว่า กินข้าวกับอะไรมา เด็กเสิร์ฟสะบัดก้นตอบ คงอารมณ์เหวี่ยงๆว่า กินข้าวกับน้ำพริกน่ะสิ ครูชลธีได้ยินแบบนั้นก็ปิ๊งไอเดียทันที จดสองคำนี้ลงไปในกระดาษซึ่งต่อมากลายมาเป็นชื่อเพลงจริง ได้แก่คำว่า “กินอะไรถึงสวย” และ “กินข้าวกับน้ำพริก”

เมื่อครูชลธีกลับถึงบ้านจึงเริ่มลงมือเขียนเพลงต่อจนจบทันที โดยใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น สองเพลงนี้โด่งดังมากในสมัยก่อน นักร้องที่มาขับร้องตอนนั้นก็มีชื่อเสียงอยู่แล้วทั้งคู่ ก็ยิ่งโด่งดังกันไปใหญ่ ส่วนวลีนี้ ก็กลายเป็นที่พูดถึงโดยทั่วไป สาวๆคนไหนเวลามีคนถามว่า กินอะไรถึงสวย ก็มักจะตอบว่า กินข้าวกับน้ำพริกเสมอ ยุคนี้แล้วไม่รู้ยังมีใครตอบแบบนี้อยู่รึเปล่า


02 ถูกนำมาผลิตซ้ำอยู่เรื่อยๆ

ถ้าหากเพลงไหนที่เคยโด่งดังมาแล้วในอดีต ถูกกลับมาทำซ้ำอยู่เรื่อยๆ ก็เป็นสัญญาณว่าเพลงนั้นคือ เพลงแห่งยุค เป็นเพลงอมตะตลอดกาลในใจของผู้ฟัง ซึ่งเพลง กินอะไรถึงสวย - กินข้าวกับน้ำพริก นับว่าถูกจัดอยู่ในกลุ่มนั้นเช่นเดียวกัน เพราะตั้งแต่ออกมาครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน ก็ถูกทำเป็นเวอร์ชั่นต่างๆหลากสไตล์ ผ่านการขับร้องของนักร้องมากหน้าหลายตา

ชื่อของนักร้องยุคเก่าอย่าง รุ่งเพชร แหลมสิงห์, ชาย เมืองสิงห์, สุรพล สมบัติเจริญ หรือจะใหม่ขึ้นมาหน่อยก็เป็น เอกชัย ศรีวิชัย, ก็อต จักรพรรณ์ ฝั่งหญิงก็เช่น เปาวลี พรพิมล และ แก้ม วิชญาณี ต่างก็เคยผ่านการขับร้องเพลงนี้มาแล้วทั้งสิ้น นอกจากนั้นเพลงยังเคยถูกใช้เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ต่างๆหลายชิ้น (เช่น นมเปรี้ยวดัชมิลล์) รวมถึงมีคนเอาไปร้องประกวดตามเวทีต่างๆอยู่เสมอไม่ว่าจะเป็น The Mask Singer เอย The Voice เอย ก็ไปมาหมดแล้ว ไม่มีพลาด เรียกว่าถ้าไม่ดังจริง ทำแบบนี้ไม่ได้แน่

นี่ยังไม่นับรวมที่มี คนเอามาดัดแปลงทำเป็นเพลงใหม่ ในแนวอื่นๆ อย่างเพลง K-Town Crew ของ Illslick หรือสมัยนี้ที่คนนิยมเพลงลูกทุ่งแบบ Remix กันก็มีคนเอามาทำเรียบร้อยแล้ว โดยใช้เสียงร้องเวอร์ชั่นของก๊อต จักรพรรณ์ มาผสมกับดนตรีของวง Polycat ความรู้สึกตอนแรกที่ได้ฟังคือ แปลกดีนะ แต่ทั้งเนื้อร้องและดนตรี เข้ากันได้ดีแบบเหลือเชื่อเลย

ทั้งหมดทั้งมวลที่เล่ามา ก็เพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่า ความนิยมของเพลงนี้ไม่เคยเลือนหายไปไหน ทั้งที่ผ่านเวลาล่วงเลยมากว่า 46 ปีแล้ว ราวกับว่า หากน้ำพริกยังอยู่คู่ครัวไทย กินน้ำพริกก็เลยสวยก็ยังเป็นคำตอบที่ถูกต้องของคำถามนี้เสมอ



สำรวจน้ำพริกประจำภาคต่างๆ ของประเทศไทย

น้ำพริกในเมืองไทยของเรานั้นมีมากมายหลายประเภท มีเอกลักษณ์ ส่วนผสม และวิธีการปรุงที่แตกต่างกันออกไป ด้วยวัฒนธรรมด้านอาหารของผู้คนในแต่ละภาคจึงทำให้น้ำพริกจากจุดเริ่มต้นที่ใช้เพียงกะปิ และพริกเป็นแกนหลักของเมนูสู่การพลิกแพลงเป็นรูปแบบใหม่ๆมากมาย คนอีสานชอบทานปลาร้าจึงมีน้ำพริกปลาร้า ส่วนคนภาคใต้มีอาหารทะเลจึงมีน้ำพริกกุ้งเสียบ เป็นต้น

EDT Insider ชวนทุกท่านมาแอ่วเหนือ ล่องใต้ ท่องอีสาน ก่อนจะกลับมายังภาคกลาง สำรวจน้ำพริกประจำภาคต่างๆกัน


01 ภาคเหนือ

น้ำพริกหนุ่ม

เป็นเมนูพื้นบ้านของชาวล้านนา หลายคนมีโอกาสไปเที่ยวทางภาคเหนือต้องไม่พลาดที่จะซื้อติดไม้ติดมือมาเป็นของฝาก น้ำพริกหนุ่มทานคู่กับแคบหมูกรอบๆเข้ากันดีมากทีเดียว

น้ำพริกหนุ่ม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวตรงที่ใช้ “พริกหนุ่ม” คือ พริกสดที่ยังไม่แก่จัด เป็นส่วนผสมสำคัญ นอกจากนั้นก็มี หอมแดง กระเทียม ซึ่งก่อนใช้ต้องเอาทั้งหมดนี้มาย่างไฟก่อน จากนั้นเอาลงโขลกปรุงรส พอเสร็จจะได้น้ำพริกที่มีลักษณะข้นคลั่ก



น้ำพริกอ่อง

อีกหนึ่งเมนูเด็ดของชาวภาคเหนือ โดยคำว่า อ่อง เป็นภาษาถิ่น แปลว่า วิธีการปรุงน้ำพริกที่ต้องผัดเคี่ยวทิ้งไว้ให้น้ำค่อยๆงวดลง จุดเด่นของน้ำพริกอ่อง คือ การใส่มะเขือส้ม(มะเขือเทศ) และ ถั่วเน่าลงไปในน้ำพริกด้วย สองอย่างนี้ถือเป็นวัตถุดิบท้องถิ่นในอาหารของชาวภาคเหนือ เพราะถ้าลองสำรวจเมนูอื่นๆก็จะพบว่า มีการใส่มะเขือส้ม และถั่วเน่าลงไปอีกหลายเมนู เช่น ขนมจีนน้ำเงี้ยวและข้าวส้ม ถั่วเน่านี้ถ้าให้เห็นภาพชัดๆก็เปรียบเสมือนผงชูรสของชาวภาคเหนือนั่นแหละ

น้ำพริกอ่อง จะออกรสชาติหวานอมเปรี้ยว ทานง่าย ปกตินิยมใส่เนื้อสัตว์ด้วย เป็นพวกหมูบด แต่สมัยก่อนยุคที่หมูยังหายากและมีราคาแพง ก็จะใส่เนื้อปลาช่อนแทน ทานกับผักสดหรือแคบหมูก็เข้ากันดีเช่นกัน


02 ภาคกลาง


น้ำพริกกะปิ

ถ้าพูดถึงคำว่าน้ำพริก หลายคนคนนึกถึงภาพน้ำพริกกะปิขึ้นมาก่อนเป็นอันดับแรก น้ำพริกกะปินี้ มีความเป็นมาอันยาวนานในฐานะรูปแบบของน้ำพริกที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

น้ำพริกกะปิ ใช้ส่วนผสมในการปรุงไม่มาก มีพริก กะปิ กระเทียม ปรุงรสด้วยน้ำมะนาว น้ำปลา น้ำตาลทราย เป็นเมนูทำง่าย ทานได้ทุกมื้อ ถ้ามีปลาทูทอดสักตัวกับผักสดกรอบๆร่วมด้วยยิ่งเพิ่มความอร่อยขึ้นไปอีก

น้ำพริกลงเรือ

สำรับน้ำพริกชาววัง ถูกคิดค้นโดยเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในรัชกาลที่ 5 ที่ตอนนั้นทำหน้าที่ในห้องพระเครื่องต้นในราชสำนัก (ห้องครัว) น้ำพริกลงเรือนี้แท้จริงก็คือ น้ำพริกกะปิธรรมดาแต่เอามาผัดรวมกับปลาดุกฟู โดยมีที่มาจากเรื่องราวในวังสุนันทา เล่าว่า วันนั้นเจ้านายเสด็จทางเรือ และคงเพลิดเพลินเพราะเย็นย่ำแล้วถึงเวลาเสวยก็ยังไม่ยอมขึ้นจากเรือ ทั้งยังมีประสงค์จะเสวยบนเรือเลย เจ้าจอมสดับ จึงเข้าไปในครัวบนเรือ หยิบเอาวัตถุดิบที่เหลืออยู่มาทำเป็นเมนูใหม่ด้วยความจำเป็น แต่ปรากฎว่าเมนูนั้นมีรสอร่อย แปลกใหม่ จึงเป็นที่ชื่นชอบมาก ตั้งชื่อให้ว่า น้ำพริกลงเรือ และถูกสืบทอดวิธีการทำกันมาจนถึงปัจจุบัน

น้ำพริกลงเรือที่ดี ว่ากันว่าจะต้องรสชาติเปรี้ยว หวาน เค็มที่ได้สัดส่วนเท่าๆกันถึงจะลงตัว มีจุดเด่นตรงที่มีปลาดุกฟู หมูหวาน และไข่เค็มกินร่วมกับน้ำพริกด้วย


03 ภาคอีสาน


แจ่วบอง

แทบจะเป็นเมนูหลักของชาวอีสานที่ยังมีวิถีชีวิตในการทำไร่ไถนา แจ่วบอง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวตรงที่เป็นเครื่องจิ้มที่มีความเข้มข้น รสเผ็ดร้อนแรง และกลิ่นหอมนัวด้วยปลาร้าที่โดดเด่นจนแทบจะเป็นพระเอกของเรื่อง

คำว่า แจ่ว เป็นภาษาอีสาน แปลว่า เครื่องจิ้มหรือน้ำพริก ส่วนคำว่า บอง สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นภาษามาจากชาวไทดำ แปลว่าดอง พอเอามารวมกัน ความหมายก็ตรงกับลักษณะของแจ่วบอง คือเป็นน้ำพริกที่มีปลาร้าผสม

แจ่วบอง กินกับข้าวเหนียวร้อนๆ แกล้มผักสดเข้ากันดีอย่าบอกใครทีเดียว



จรั๊วะโดง

น้ำพริกท้องถิ่นของชาวจังหวัดบุรีรัมย์ถิ่นอีสานใต้ เมนูนี้โด่งดังอยู่พักนึง เพราะว่าเป็นเมนูที่ ลิซ่า วงแบล็คพิงค์เคยบอกว่าชอบกินนั่นเอง จุดเด่นของจรั๊วะโดง คือ เป็นน้ำพริกที่ต้องใส่กะทิด้วย น้ำพริกนี้ได้รับอิทธิพลมาจากทางเขมร จรั๊วะโดง เป็นภาษาเขมร โดยคำว่า จรั๊วะ แปลว่า น้ำพริก ส่วนโดง แปลว่า กะทิ รวมกันแปลว่า น้ำพริกที่ใส่กะทิ

รสชาติจะออกคล้ายๆ เต้าเจี้ยวหลน ได้ความหอมมันจากกะทิ ความเค็มนัวจากน้ำปลาร้า และมีรสสัมผัสจากเนื้อปลาที่ลงไปด้วย กินกับผักสด ไข่ต้ม และเครื่องเคียงได้หลากหลายเข้ากันดี


04 ภาคใต้


น้ำพริกโจร (น้ำชุบหยำ)

น้ำชุบหยำ น้ำพริกจากทางภาคใต้ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวตรงที่เป็นน้ำพริกที่ไม่ต้องตำ แต่ใช้มือขยำๆส่วนผสมทุกอย่างให้เข้ากันแทน และน้ำพริกนี้มีชื่อเสียงมากขึ้นหลังจากการเสิร์ฟของเชฟเป๋าเป๋ ในรายการ Masterchef All Star Thaliand

น้ำชุบ แปลว่า น้ำพริก ส่วนหยำ คือ ขยำ ทั้งสองคำเป็นภาษาถิ่น รวมกันแล้วให้ความหมายตรงตัวว่า น้ำพริกที่ใช้มือขยำ โดยมีตำนานเรื่องเล่าถึงต้นกำเนิดว่า คืนหนึ่งโจรขึ้นบ้าน เกิดหิวมากจึงแอบเข้าครัวหาของกิน เผอิญมีเครื่องทำน้ำพริกเหลืออยู่ แต่ไม่กล้าใช้ครก เพราะกลัวเสียงดังจนเจ้าของบ้านตื่น จึงใช้มือขยำส่วนผสมทำน้ำพริกให้เข้ากันแทน

น้ำชุบหยำ มีส่วนผสมและวิธีทำไม่ต่างจากน้ำพริกกะปิมากนัก แต่จะใส่กุ้งลวกลงไปด้วย กินกับผักสด ข้าวสวยร้อนๆ เป็นเมนูอร่อยง่ายๆกินได้ทุกมื้อ



น้ำพริกกุ้งเสียบ

เมนูท้องถิ่นจากจังหวัดภูเก็ต มีเอกลักษณ์ที่สำคัญคือ การใส่กุ้งเสียบ ซึ่งเป็นการถนอมอาหารอย่างหนึ่งของภาคใต้ลงไปในน้ำพริกด้วย กุ้งเสียบ คือ กุ้งทั้งเปลือกที่เอามาเสียบไม้ทาเกลือ ปิ้งหรือรมควันจนแห้ง ทำให้ยืดอายุอาหารสามารถเก็บไว้กินได้นานขึ้น

น้ำพริกกุ้งเสียบ เป็นน้ำพริกที่ทานไม่ยาก มีรสชาติไม่เผ็ดมาก ดั้งเดิมชาวท้องถิ่นนิยมรับประทานเป็นอาหารกลางวัน กินคู่กับผักสดอร่อยมาก


#น้ำพริก #namprik

#EDTInsider #SEARCHING #SIGNATURE

#เพราะเราเชื่อว่าทุกอย่างมีลายเซ็นต์ #EDTGUIDE


related

EDT

เจาะลึกเบื้องหลัง จากการร่วมมือระดับอาเซียน สู่ “ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน” แห่งแรกของภูมิภาค เชื่อมความสัมพันธ์ สร้างความภาคภูมิใจ

เกาะรัตนโกสินทร์ เรียกได้ว่าเป็นศูนย์รวมนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์ หรือศูนย์วัฒนธรรมหลายแห่ง และทุกแห่งมีจุดเด่นความน่าสนใจแตกต่างกันไป มีหนึ่งแห่งที่เราอยากให้ทุกคนได้เข้าไปสัมผัส กับนิทรรศการ ที่รวมรวบความรู้ ความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมมากมาย ไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่มีให้ได้ซึมซับมากถึง 10 ประเทศ ทุกประเทศตั้งอยู่ในภูมิภาคอาเซียน สนุกเข้าใจง่าย เพลิดเพลินกับการนำเสนอเนื้อหา ที่ผสานเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นการเดินเที่ยวนิทรรศการที่รับรองว่าไม่น่าเบื่อ ที่นี่คือ “ASEAN Cultural Center” หรือ “ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน”
EDT

เรากินอาหารกระป๋องกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่?

อาหารกระป๋องแท้จริงก็คือ การถนอมอาหารอย่างหนึ่งเป็นวิทยาการด้านอาหารของชาวตะวันตก ที่เอาของสดมายืดอายุการเก็บรักษา มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน และนับว่าเมื่อมีอาหารกระป๋องก็ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในโลกของอาหารเป็นอย่างมากทีเดียว
EDT

The Insider of Lobster Gangsters มันกุ้ง Lobster ผลผลิตจากเศษอาหาร สู่รางวัลเหรียญทองนานาชาติ

ร้านที่เสมือนเป็นตัวแทนความทรงจำและแรงบันดาลใจของ “พี่มนต์”มณทิรา เจริญวัลย์ สู่ความเป็นเหรียญทองในวันนี้
EDT

5 เรื่องราวของ “ติ่มซำ” ที่ทำให้กลายเป็นอาหารที่นิยมทั่วโลก

ติ่มซำอาหารยอดนิยมของจีนที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก มารู้จักติ่มซำแบบเจาะลึกกันว่าจริงๆแล้วมีอะไรมากกว่าที่เราคิด และสาเหตุอะไรกันที่ทำให้เมนูจานเล็กๆเหล่านี้กลายเป็นที่นิยมทั่วโลก
EDT

“น้ำพริก” คนไทยกินมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

น้ำพริก เป็นเมนูทำง่าย อยู่คู่ครัวชาวไทยมาอย่างช้านาน เป็นที่นิยมในครัวเรือนทั่วประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เมืองไทยมีเมนูน้ำพริกหลากหลายมาก แต่ละภาคมีวิธีการทำที่แตกต่าง รสชาติก็ต่างกัน
EDT

ผัดกะเพรา เมนูสิ้นคิดประจำชาติไทย

ผัดกะเพรา เป็นเมนูอาหารง่ายๆ ทำกินได้แบบด่วนๆ (ภาษาอังกฤษคงเรียก Fast Food) ปรากฎอยู่ในแทบจะทุกร้านอาหารประเภทตามสั่งในบ้านเรา วิธีการทำไม่ซับซ้อนเลย ปรุงได้โดยวิธีการผัดในกะทะ ใส่เนื้อสัตว์ลงไปผัดกับน้ำมันร้อนๆ ใส่พริก ใส่กระเทียม ปรุงรสตามใจชอบ ได้ที่แล้วจึงใส่ใบกะเพราเพิ่มกลิ่นและความฉุน ผัดให้เข้ากันก็ยกลงจากเตารับประทานได้
EDT

ข้าวผัด มรดกทางวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของโลก

ข้าวผัด อีกหนึ่งในอาหารจานโปรดของใครหลายๆคน เมนูที่หน้าตาสุดแสนจะธรรมดาและหาทานได้ทั่วไปตามร้านอาหารตามสั่งไม่ต่างจากผัดกะเพรา แต่รู้หรือไม่ว่า ข้าวผัดนี้ไม่ได้มีแค่ในประเทศไทย หากแต่สามารถหาทานได้ทั่วโลก มีต้นกำเนิด มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนาน รวมถึงมีเรื่องราวที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะข้าวผัดหยางโจว สำรับข้าวผัดเก่าแก่จากประเทศจีน มีอายุกว่า 1400 ปี ซึ่งอาจจะถือได้ว่าเป็นบรรพบุรุษของบรรดาข้าวผัดทั้งหมดทั้งหมดทั้งมวลบนโลกนี้เลยทีเดียว
EDT

ย้อนเวลาตามหาที่มาของ Staycation เทรนด์การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ในยุค New Normal

Staycation เกิดจากรวมกันของคำ 2 คำที่มีความหมายขัดแย้ง ได้แก่คำว่า Stay กับ Vacation กลายเป็นคำใหม่ซึ่งแปลตรงตัวได้ว่า การหยุดพักผ่อนอยู่กับบ้าน หรือ เดินทางท่องเที่ยวอยู่แถวบ้าน ซึ่งต่างจากความหมายของคนทั่วไปที่ว่า การพักร้อนจะต้องออกไปเที่ยวที่ไกลๆ นั่นเอง
EDT

Video on Demand Application เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับแอพดูหนัง

แอพดูหนังมีการเติบโดสูง และเป็นกิจกรรมยอดฮิตของคนไทยในยุคโควิด 19
EDT

The Insider of Bonita Vegan

ลูกค้าของพี่เป็นนักท่องเที่ยว 90% ก็คือตอนนี้เราปิดประเทศอยู่ก็ไม่มีลูกค้า แต่ก็มี 10% ที่บอกให้พี่ไปต่อ
สำหรับผู้ใช้ edtguide
สำหรับร้านค้าหรือธุรกิจ

© 2020 edtguide.com by Cheese Digital Network Co., Ltd. Privacy Policy