เรากินอาหารกระป๋องกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่?
ในช่วงสถานการณ์วิกฤติโดยเฉพาะน้ำท่วมหนักในบ้านเราตอนนี้ อาหารกระป๋องนั้นถือว่ามีบทบาทสำคัญมาก เพราะสามารถช่วยให้ผู้ประสบภัย ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ผู้คนหุงหาอาหารไม่ได้ อาหารกระป๋องแท้จริงก็คือ การถนอมอาหารอย่างหนึ่งเป็นวิทยาการด้านอาหารของชาวตะวันตก ที่เอาของสดมายืดอายุการเก็บรักษา มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน และนับว่าเมื่อมีอาหารกระป๋องก็ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในโลกของอาหารเป็นอย่างมากทีเดียว
01 เชฟหนุ่ม ผู้คิดค้นวิธีการถนอมอาหารแบบใหม่
ปี ค.ศ. 1795 ประเทศฝรั่งเศส สมัยการปกครอง นโปเลียน โบนาปาร์ต กำลังติดพันอยู่กับสงครามและการสู้รบในสมรภูมิต่างๆ เช่น อิตาลี เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน รวมไปถึงประเทศในแถบทะเลแคริบเบียน สิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ในการสู้รบนอกจากกำลังพลที่เก่งกาจ ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกด้วยเช่น อาหาร และ ยารักษาโรค ตรงนี้เน้นไปที่อาหาร เพราะ เป็นอย่างที่เราเคยได้ยินกันมา นั่นคือ “กองทัพต้องเดินด้วยท้อง” แต่ปัญหาก็คือ อาหารที่มีนั้นเน่าเสียเร็วเกินไป ทางรัฐบาลฝรั่งเศสจึงจัดการประกวดการถนอมอาหารขึ้นมาเพื่อหาวิธีการยืดอายุการจัดเก็บออกไปให้นานที่สุดเพื่อเอาไปใช้ในสงคราม ผู้ชนะในครั้งนี้จะได้รับเงินรางวัล 12,000 ฟรังก์ซึ่งนับว่าสูงมากในสมัยนั้น
และผู้ชนะ ก็คือ นิโคลัส แอพเพิร์ท ที่ตอนนั้นทำงานเป็นเชฟ โดยเขาได้คิดค้นวิธีการเอาอาหารลงไปอยู่ในขวดแก้วปิดฝาให้สนิท จากนั้นก็ต้มในน้ำเดือดสักระยะหนึ่ง ปรากฎว่า สามารถยืดระยะการจัดเก็บของ อาหารออกไปได้เป็นที่น่าพึงพอใจ วิธีการถนอมอาหารในขวดแก้วจึงเริ่มเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้นหลังจากนั้น โดยในยุคแรกอาหารในขวดแก้วก็จะเป็นพวก ผัก ผลไม้ นม เนื้อสัตว์ และ ปลา
02 เปลี่ยนมาใส่กระป๋องดีบุกแทน
แก้วเป็นสินค้าเปราะบาง ทำให้แตกหักได้ง่ายหากเกิดการกระทบกระทั่งแรงๆ เช่นเดียวกันกับอาหารในขวดแก้วของแอพเพิร์ท ที่มักจะมีปัญหาขวดแตกเนื่องมาจากการขนส่งอยู่บ่อยครั้ง ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1810 กระป๋องดีบุกสำหรับใส่อาหารก็ถือกำเนิดขึ้น โดยปีเตอร์ ดูแรนด์ นักประดิษฐ์ชาวอังกฤษ กระป๋องนี้สามารถกลบข้อด้อยของขวดแก้วได้หมดสิ้น นั่นคือ มีความมั่นคงแข็งแรง ไม่ตกแตกเหมือนแก้วจึงได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน ถ้านับจากจุดนี้จนถึงปัจจุบันก็ร่วมๆ 211 ปีแล้วที่ชาวโลกมีอาหารกระป๋องกินกัน เทียบกับเวลาตามปฏิทินของคนไทย 211 ปีก่อนจะตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
03 อาหารกระป๋องในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ยกเว้นประเทศไทย ประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ล้วนแล้วแต่เคยตกเป็นอาณานิคมของชาวต่างประเทศที่เข้ามารุกรานชาวท้องถิ่นเพื่อแสวงหาทรัพยากรทั้งสิ้น พม่ากับมาเลเซีย ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ลาวกับกัมพูชา เคยอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส และอินโดนีเซีย อยู่ภายใต้การปกครองของเนเธอร์แลนด์ และนี่เอง คือจุดเริ่มต้นของอาหารกระป๋องในภูมิภาคนี้
ประเทศผู้ปกครอง มาพร้อมกับเหล่าคนทำงาน ข้าหลวง และราชการที่ต้องมาทำงานต่างพื้นที่ต่างถิ่น หลายครั้งก็มักจะมีปัญหากับการปรับตัว โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน ซึ่งแตกต่างจากอาหารที่ตนเองเคยกินอย่างสุดขั้ว อาหารกระป๋องมาเพื่อแก้ไขปัญหานี้ อาหารกระป๋องยี่ห้ออะยัม ถูกก่อตั้งขึ้นครั้งแรกที่มาเลเซีย ในปี ค.ศ. 1892 โดยอัลเฟรด คลูเวย์ ชาวฝรั่งเศส มีสินค้าหลากหลาย แต่เป็นที่นิยมที่สุดก็คือ ปลาซาร์ดีนกระป๋อง
สมัยก่อนต้นทุนในการทำอาหารกระป๋องยังมีราคาแพงมากจึงเป็นที่นิยมในหมู่ข้าหลวงราชการของเจ้าอาณานิคมและคนมีอันจะกินเท่านั้น จนเมื่อต้นทุนมีราคาถูกลง อาหารกระป๋องโดยเฉพาะปลากระป๋องก็ค่อยๆซึมลึกในวัฒนธรรมของชาวภูมิภาคนี้ไปโดยไม่รู้ตัว ดังจะเห็นได้จากเมนูดัดแปลงต่างๆที่มีวัตถุดิบจากอาหารกระป๋องเป็นส่วนประกอบสำคัญ เช่น ยำปลากระป๋องจากประเทศไทย หรือจะเป็นนาซิโกเร็งปลากระป๋อง ข้าวผัดปลากระป๋อง ในเวอร์ชั่นของประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย เป็นต้น สำหรับประเทศไทยไม่ปรากฎข้อมูลว่า อาหารกระป๋องเข้ามาเมื่อไหร่ เรารู้เพียงว่าสมัยก่อนคนไทยจะกินอาหารกระป๋องซึ่งนำเข้ามาจากต่างประเทศเท่านั้น ปลากระป๋องของคนไทยยี่ห้อแรกๆก็จะมี สามแม่ครัว กับ ปุ้มปุ้ย ที่เพิ่งมีขายกันมาในช่วง 50 ปีหลังนี้นี่เอง
รู้หรือไม่? ปลาแมกเคอเรลที่อยู่ในปลากระป๋อง คือ ปลาทู
ปลากระป๋อง ภายใต้ความอร่อยแบบด่วนๆ น้ำซอสมะเขือเทศรสหวานอมเปรี้ยว คลุกเคล้าเข้ากันดีกับเนื้อปลาแมคเคอเรลก่อนจะแพ็คลงกระป๋องกลายเป็นอาหารพร้อมเสิร์ฟทุกเมื่อ เราเคยสงสัยกันมั้ยว่า ปลาแมคเคอเรลในปลากระป๋องที่เรากินกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนั้น แท้จริงคือปลาอะไรกันแน่ อ่านฉลากข้างกระป๋อง เค้าบอกว่าเป็นปลาแมคเคอเรล แต่นั่นหล่ะ ปลาแมคเคอเรลนี่มันปลาอะไร มีในเมืองไทยด้วยเหรอ?
01 ปลาทู คือ ปลาแมคเคอเรลชนิดหนึ่ง
ปลากระป๋องจากปลาแมคเคอเรลที่ผลิตในประเทศไทย จะใช้ปลาทูเป็นวัตถุดิบในการผลิตทั้งหมด หลายคนอาจจะตั้งคำถามแล้วว่า อ้าว ยังงี้บริษัทผลิตปลากระป๋องกำลังหลอกลวงเราอยู่หรือเปล่า ทำไมถึงใช้ปลาทู ไม่ใช้ปลาแมคเคอเรลอย่างที่โฆษณาไว้หล่ะ คำตอบคือ ไม่ได้มีใครหลอกลวงใครแต่อย่างใด เพราะ ปลาทูก็คือ ปลาแมคเคอเรลชนิดหนึ่งนั่นเองด้วยความที่คำว่า แมคเคอเรล เป็นชื่อสามัญของปลาทะเลหลายสปีชีส์ เป็นชื่อกลุ่มของปลา ดังนั้นจึงมีปลาหลายชนิดบนโลกนี้ถูกจัดเป็นปลาแมคเคอเรล ชื่อของ ปลาอินทรี, ปลาซาบะ, ปลาโอ, ปลาทู พวกนี้อยู่ในกลุ่มปลาแมคเคอเรลทั้งหมด
ปลาแมคเคอเรล เป็นปลาที่พบอยู่ในทะเลทั้งเขตร้อนและเขตอบอุ่น มีลักษณะสังเกตคือ ผิวจะเป็นเกล็ด มันวาวออกสีเงินสะท้อนแสง หางเป็นง่าม ลักษณะลำตัวเรียวยาว มีประโยชน์ต่อร่างกายเพราะเนื้อปลาเต็มไปด้วยโอเมก้า 3 สูงซึ่งเป็นไขมันชนิดดีที่ร่างกายต้องการ ส่วนปลาอีกชนิดหนึ่งที่พอเราพูดถึงปลากระป๋องแล้ว ต้องร้องอ๋อตีคู่มากับปลาแมคเคอเรล ก็คือ ปลาซาร์ดีน อันนี้บ้านเราจะเรียกปลาหลังเขียว ถ้าได้ยินใครพูดว่า ปลาหลังเขียว ก็ให้เข้าใจตรงกันว่า นั่นคือ ปลาซาร์ดีน ซึ่งก็คือ ปลาที่เค้าเอามาทำเป็นปลากระป๋องเช่นเดียวกับปลาแมคเคอเรล ส่วนเรื่องรสชาติอันนี้ก็แล้วแต่คนว่าจะชอบปลาไหน ไม่มีถูกผิด หากแต่ปลาซาร์ดีนจะมีเนื้อที่ละเอียดมากกว่าปลาแมคเคอเรล
02 ปลาทูในน่านน้ำไทยที่จริงแล้วก็มีหลายชนิด
ทีนี้เราจะมาลงรายละเอียดให้ปลาทูสักหน่อย เพราะจริงๆแล้วที่พบในท้องทะเลบ้านเราก็มีหลายชนิด หลักๆเราจะแบ่งเรียกออกเป็น 3 อย่างได้แก่
O ปลาทู
มีขนาดประมาณ 15 - 20 เซนติเมตร เนื้อแน่นละเอียด มีมันมาก กินอร่อย เป็นที่นิยมมาก
O ปลาทูแขก
มีขนาดใกล้เคียงกับปลาทู แตกต่างกันตรงที่ปลาทูแขกมีเกล็ดที่โคนหาง เนื้อหยาบ ไม่อร่อยเท่าปลาทู
O ปลาลัง หรือ ปลาทูโม่ง
ขนาดตัวจะใหญ่กว่า 2 ชนิดปลาด้านบน ลำตัวยาว 20-25 เซนติเมตร จะแตกต่างตรงมีปากที่แหลม
ปลา 3 ชนิดนี้เอามาทำเป็นปลากระป๋องได้ทั้งหมด แต่ที่นิยมเอามาทำมากที่สุดในปัจจุบัน ก็คือ ปลาทูแขกและปลาทูลัง เหตุผลส่วนนึง เพราะปลานี้โดยปกติคนไม่นิยมกินมากเท่า เนื่องจากเนื้อหยาบ มีมันน้อย กินไม่อร่อยเท่ากับปลาทู และมีราคาถูกกว่า
อันที่จริงก่อนหน้านี้ ปลากระป๋องในท้องตลาดบ้านเราส่วนมากจะทำมาจากปลาหลังเขียวหรือปลาซาร์ดีน แต่พอสภาพแวดล้อมทางทะเลเปลี่ยนไปก็ทำให้จำนวนปลาซาร์ดีนในน่านน้ำไทยลดปริมาณลงมาก ผู้ผลิตจึงเปลี่ยนไปใช้กลุ่มปลาแมคเคอเรล ได้แก่ ปลาทูลัง และปลาทูแขกมาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตแทน ดังนั้น ถ้าวันนี้เปิดปลากระป๋องทาน แล้วเห็นฉลากข้างๆว่าปลาแมคเคอเรล ก็ให้รู้ไว้เลยว่า เรากำลังทานเนื้อปลาทูแขก หรือไม่ก็ปลาทูลังในน้ำซอสมะเขือเทศอยู่นั่นเอง
สำรวจส่วนแบ่งการตลาด ปลากระป๋องยี่ห้ออะไรขายดีที่สุดในประเทศไทย
ปัญหาโลกแตกอย่างนึงเวลาจะซื้อสินค้าสักอย่างคงหนีไม่พ้นคำถามที่ว่า จะซื้อสินค้ายี่ห้ออะไรดี เพราะของชนิดเดียวกันแต่ก็มีผู้ผลิตหลายเจ้า หน้าตาสินค้ายังคล้ายๆกันอีก หลายครั้งจึงจบด้วยการไปยืนเกาหัว คิดไม่ตกอยู่หน้าเชลฟ์ขายสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตแบบงงๆ
เรื่องอาหารการกิน โดยเฉพาะปลากระป๋องที่เราจะพูดถึงกันในวันนี้ อร่อยไม่อร่อยยังไงถือเป็นเรื่องส่วนบุคคล เพราะว่าความอร่อยขึ้นอยู่ที่ลิ้นใครลิ้นมัน สิ่งที่เราชอบแต่คนอื่นอาจจะไม่ชอบก็ได้ ต่างคนก็ต่างมีรสชาติและเนื้อสัมผัสที่ตัวเองชอบ นานาจิตตัง วันนี้เราเลยไม่ได้มาชี้นำว่ายี่ห้อไหนอร่อย แต่จะชวนทุกคนไปสำรวจส่วนแบ่งการตลาดปลากระป๋องในเมืองไทย ไปดูข้อเท็จจริงว่ายี่ห้อไหนขายดีบ้าง คนไทยส่วนใหญ่ชอบซื้อยี่ห้อไหนกัน และตัวเราเองมีความคิดเห็นเหมือนกับพวกเขาหรือเปล่า? แต่ทั้งนี้ปัจจัยในการซื้อสินค้าบางครั้งไม่ได้มีแค่เรื่องรสชาติอย่างเดียว แต่มีเรื่องราคามาประกอบด้วย ถ้าเป็นที่น่าพึงพอใจของผู้บริโภคก็จะเกิดการซื้อ โดยผู้บริโภคจะซื้อสินค้าที่ให้ความรู้สึกคุ้มค่าเสมอ
01 ตลาดปลากระป๋องของประเทศไทย
ปลากระป๋องมีบทบาทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานแล้ว เพราะเข้ามาพร้อมกับประเทศผู้ล่าอาณานิคมจากฝั่งยุโรป อย่างเช่น อังกฤษและฝรั่งเศส แม้ว่าจะไม่ได้มีบันทึกอย่างชัดเจนว่าคนไทยได้เริ่มกินอาหารประเภทนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่ หากแต่นับเฉพาะบริษัทผลิตปลากระป๋องที่เป็นของคนไทยเองก็มีมาเกิน 50 ปีแล้ว โดยคนไทยก็กินปลากระป๋องที่นำเข้ามาจากต่างประเทศมาก่อนหน้า
ทุกวันนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักปลากระป๋อง คนไทยต่างเคยได้ลิ้มรสชิมเนื้อปลาในน้ำซอสมะเขือเทศอย่างถ้วนหน้าโดยไม่แบ่งชนชั้น ไม่ว่ายากดีมีจน ซึ่งนี่เองก็ทำให้ตลาดปลากระป๋องบ้านเรามีมูลค่าสูงถึง 8 - 9 พันล้านบาท ในปี พ.ศ.2560 เลยทีเดียว ปัจจุบันตัวเลขนี้ได้ขยายเพิ่มขึ้นอีก ถ้านับเฉพาะในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป จากที่เคยใช้ชีวิตนอกบ้านก็ต้องมาอยู่กับบ้านเพิ่มขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ อาหารกระป๋องจึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก มีการคาดการณ์ว่าตลาดปลากระป๋องในยุคโควิดนี้เติบโตขึ้นมากกว่าเดิมถึง 8 เท่าด้วยกัน
02 ปลากระป๋องยี่ห้อไหนขายดีที่สุด
ข้อมูลจาก Marketeer Online ปลากระป๋องในตลาดบ้านเราปัจจุบันมีให้เลือกกันอย่างมากมายกว่า 20 แบรนด์ แต่จะมีอยู่ 3 แบรนด์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดได้แก่
O สามแม่ครัว
มีส่วนแบ่งการตลาด 35%
ราคาปลีกปัจจุบัน กระป๋องละ 18 บาท
ปริมาตรสุทธิ 155 กรัม
O โรซ่า
มีส่วนแบ่งการตลาด 15 %
ราคาปลีกปัจจุบัน กระป๋องละ 18.5 บาท
ปริมาตรสุทธิ 155 กรัม
O ซุปเปอร์ซีเซฟ
มีส่วนแบ่งการตลาด 10%
ราคาปลีกปัจจุบัน กระป๋องละ 18 บาท
ปริมาตรสุทธิ 155 กรัม
O แบรนด์อื่นๆที่เหลือ
มีส่วนแบ่งการตลาดรวมกัน 40%
ซึ่งข้อมูลราคา และปริมาตรสุทธิทั้งหมดนี้ทาง EDT Insider อ้างอิงโดยตรงมาจากเว็บไซต์ชอปปิ้งออนไลน์ของเทสโก้โลตัส ณ วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2564
ถ้ากินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋องทุกวันจะเป็นอะไรมั้ย?
อาหารยอดฮิตสำหรับเด็กหอไปจนถึงมนุษย์เงินเดือน สองอย่างที่ได้ชื่อว่าเป็นอาหารกันตายเมื่อยามใกล้สิ้นเดือน แค่มีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกับปลากระป๋องก็ช่วยให้อิ่มท้องได้ง่ายๆในราคาแสนประหยัด บ้างก็เมื่อยามเกิดวิกฤติบ้านเมืองเผชิญกับภัยธรรมชาติที่สิ่งนี้ก็เข้ามามีบทบาทอย่างมากมาย อยู่ในถุงยังชีพ ซองอาหารแห้งที่เค้าเอาไปแจกผู้ประภัย หรือไม่ก็ในเรื่องการศาสนาอย่างที่เราเห็นกันดาษดื่นกับการตักบาตรอาหารแห้งตามวัดต่างๆ เป็นสิ่งที่ผู้คนบริโภคกันโดยทั่วไป ด้วยความง่าย สะดวกสบาย และหลายครั้งด้วยเหตุผลประหยัดเงินกว่ามื้ออาหารหลัก
เคยสงสัยกันมั้ย? ด้วยความที่มันไม่ใช่อาหารสด แต่ต้องผ่านการแปรรูปมาก่อน การบริโภคเข้าไปในปริมาณมากๆ อนุมานว่าสามารถกินมันได้ทุกมื้อ ทุกวัน เราจะเป็นอะไรรึเปล่า จะส่งผลต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง
01 ทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและปลากระป๋อง มีโซเดียมในปริมาณที่สูง
ร่างกายของคนเรามีความต้องการโซเดียมในปริมาณที่เหมาะสมราว 2,000 - 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน โซเดียมคือธาตุจำเป็น ประโยชน์ใช้เพื่อปรับสมดุลของเกลือแร่และของเหลวในร่างกาย ช่วยควบคุมการเต้นของหัวใจ รวมไปถึงช่วยเรื่องการคลายตัวและหดตัวของกล้ามเนื้อ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากได้รับในปริมาณที่มากเกินความต้องการก็จะก่อให้เกิดผลเเสียได้
การกินอาหารที่มีรสเค็ม เสี่ยงต่อการรับโซเดียมในปริมาณที่สูงจนเกินไป และเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะปะปนกับเลือดจนเสียสมดุล ร่างกายจึงต้องดูดซึมน้ำเพื่อเข้ามาเจือจางโซเดียม แรงดันเลือดจะสูงขึ้น นี่เองจึงเป็นที่มาของโรคร้ายต่างๆอีกมากมาย ยกตัวอย่างเช่น โรคความดันโลหิตสูง และ ไตวายเรื้อรัง
ปลากระป๋อง 1 กระป๋อง
มีโซเดียมประมาณ 600 - 800 มิลลิกรัม
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ซอง
มีโซเดียมเกือบๆ 2,000 มิลลิกรัม
ทีนี้ลองนึกภาพเมนูบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ใส่ปลากระป๋อง ซึ่งหลายคนก็ชอบกินกัน กินมื้อเดียวมีโซเดียมสูงกว่าปริมาณที่ร่างกายต้องการทั้งวันไปเรียบร้อย ถ้ากินแบบนี้ 3 มื้อ ในหนึ่งวันจะรับปริมาณโซเดียมเกินความต้องการถึง 3 เท่าเลยทีเดียว ทั้งนี้ หากมีการเติมเครื่องปรุงรสอื่นๆเช่น น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ซอสเปรี้ยว ก็จะยิ่งเพิ่มปริมาณโซเดียมขึ้นไปอีก
02 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ให้สารอาหารไม่เพียงพอ
ในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปให้สารอาหารหลักเพียง 3 ชนิด ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโซเดียม ดังนั้น ถ้าเราลองอ่านฉลากของผลิตภัณฑ์ก็จะเห็นคำแนะนำให้เพิ่มเนื้อสัตว์และผักลงไปด้วยเพื่อให้ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนเสมอ แต่ปัญหาคือจะมีใครสักกี่คนที่ทำแบบนั้นได้ เพราะส่วนมากเราก็จะปรุงบะหมี่กินกันแบบด่วนๆ แทบทั้งสิ้น ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหาร 3 ชนิดดังกล่าวในปริมาณที่สูงเกินไป รวมทั้งยังขาดโปรตีนและวิตามินด้วย
ถ้ากินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นประจำ หรืออยู่ในระดับที่เรียกได้ว่าทานบ่อยเกินไป ร่างกายจะเข้าสู่ภาวะทุพโภชนา (Malnutrition) คือภาวะที่ร่างกายขาดสารอาหารที่ต้องการติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรังอื่นๆได้อีก
03 ต้องระวังอันตรายจากกระป๋องบรรจุภัณฑ์
ปลากระป๋อง ดูจะแตกต่างออกไปจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเนื่องจากมีผลการทดลองยืนยันแล้วว่า สารอาหารที่อยู่ในปลากระป๋องนั้นไม่ได้ลดลงจากเดิมเลย เนื้อปลาซาร์ดีนและปลาแมคเคอเรลที่เอามาทำปลากระป๋องนั้นมี โอเมก้า 3 สูง ซึ่งเป็นชนิดไขมันดีที่ร่างกายต้องการ มีประโยชน์ในการช่วยบำรุงสมอง อีกทั้งการกินปลาทั้งกระดูกยังช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารมากกว่าการกินแค่เนื้อปลาอย่างเดียว โดยเฉพาะแคลเซียมซึ่งดีต่อการเสริมสร้างกระดูกและฟัน
หากแต่ข้อเสียก็คงจะมาจากบรรจุภัณฑ์เสียมากกว่า ปลากระป๋องถือเป็นหนึ่งในวิธีการถนอมอาหารที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน หลังจากเอาอาหารลงบรรจุในกระป๋อง ก็จะใช้ความร้อนในช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อสลายจุลินทรีย์อันเป็นสาเหตุที่ทำให้อาหารเกิดการเน่าเสีย วิธีนี้จะช่วยยืดอายุการเก็บรักษาของอาหารออกไปได้นาน โดยปกติปลากระป๋องสามารถเก็บไว้กินได้ราว 2 ปี กระป๋องบรรจุอาหารที่เสื่อมสภาพ หรือผลิตจากโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน มีโอกาสที่จะเกิดสารปนเปื้อนในอาหารซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย อาหารที่ปนเปื้อนสาร BPA เป็นสาเหตุของโรคเบาหวานและหัวใจ เชื้อแบคทีเรียคลอสติเดียมโบทูลินัม ยิ่งรุนแรงกว่า เพราะได้รับแม้ในปริมาณเพียงเล็กน้อยก็ทำให้ท้องเสีย อาเจียน แขนขาอ่อนแรง หายใจลำบาก อาจเป็นอัมพาตหรือถึงขั้นเสียชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ดังนั้น เวลาเลือกซื้อปลากระป๋องก็ต้องดูให้ดี ให้ถี่ถ้วน เลือกบรรจุภัณฑ์ที่สมบูรณ์ ยังไม่หมดอายุจากโรงงานผลิตที่ได้มาตรฐานก็จะช่วยลดความเสี่ยงตรงนี้ลงไปได้
สรุปคือ ทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและปลากระป๋องก็ยังคงเป็นอาหารที่เราสามารถทานได้ตามปกติ หากแต่ต้องควบคุมปริมาณไม่ให้มากจนเกินไปเพราะร่างกายจะเป็นอันตรายได้ แม้จะชอบแค่ไหนก็จะพยายามกินอย่างพอดี แล้วก็หมั่นออกกำลังกายเพิ่มเติมเพื่อสุขภาพที่ดีด้วย เพราะ การไม่เป็นโรคคือลาภอันประเสริฐ คำนี้ยังใช้ได้จริงไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม
รู้หรือไม่? คนไทยกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเยอะติดอันดับโลก
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อกว่า 60 ปีที่แล้ว ญี่ปุ่นคือประเทศผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้หลังสงครามสินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาแพงมาก ผู้คนจึงหันมาทานบะหมี่ซึ่งมีราคาถูกกว่าแทน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถ้วยแรกของโลก มีชื่อว่า “ชิกิ้น ราเมน” ถูกคิดค้นโดยนายโมโมฟุคุ อันโด ในปี พ.ศ.2501 ซึ่งได้ดัดแปลงจากเมนูราเมน มาผ่านกระบวนการในรูปแบบการถนอมอาหารเพื่อทำให้เก็บไว้กินได้นานๆ
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถูกนำเข้ามาในเมืองไทยราวปี พ.ศ. 2515 - 2516 โดยมีบะหมี่ซันวา เป็นแบรนด์แรกที่วางขายในบ้านเรา ซึ่งต่อมาก็มีแบรนด์อื่นๆเช่น ยำยำ มาม่า ไวไว เพิ่มเติมในภายหลัง คนไทยจะคุ้นชินกับแบรนด์มาม่ามากที่สุด โด่งดังจนกลายเป็น Generic name หรือคำเรียกทั่วไป หลายคนในที่นี้เรียกเจ้าสิ่งนี้ว่า มาม่า ไม่ใช่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เรามักจะพูดว่า ฉันไปซื้อมาม่าที่ร้านชำหน้าปากซอย ไม่ใช่ ฉันไปซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ร้านชำหน้าปากซอยเสมอ ปัจจุบันตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถือเป็นตลาดใหญ่ และ มีมูลค่ามหาศาล ข้อมูลที่น่าสนใจอย่างนึงที่หลายคนยังไม่เคยรู้ นั่นคือ ในแต่ละปี คนไทยเรากินบะหมี่กึ่งสำเร็จเยอะมาก ตัวเลขนั้นเยอะจนติดอันดับโลก
➤ คนไทยกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากอันดับ 3 ของโลกเมื่อเทียบตามจำนวนประชากร
ข้อมูลล่าสุดจาก World Instant Noodle Association หรือสมาคมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโลก บอกกับเราว่า ประเทศไทยมีปริมาณการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในปี พ.ศ.2563 แค่ปีเดียวคนไทยกินอาหารชนิดนี้ไปแล้วกว่า 3,710,000,000 เสิร์ฟ อ่านว่า สามพันเจ็ดร้อยสิบล้าน !
และถ้าเอาตัวเลขประชากรไทยในปัจจุบันที่ราวๆ 70 ล้านคน มาหารเพื่อหาค่าเฉลี่ยปริมาณการบริโภคต่อคนแบบคร่าวๆ ก็จะได้คำตอบว่า ในปีหนึ่งๆ คนไทยจะกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปคนละ 53 เสิร์ฟ ซึ่งเท่ากับอาทิตย์นึง กินหนึ่งครั้งนั่นเอง ที่น่าสนใจคือตัวเลขการบริโภคนี้มีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกๆปี โดยเพิ่มขึ้นจาก 3,360,000,000 เสิร์ฟในปี พ.ศ. 2559 ราวๆ 400,000,000 เสิร์ฟเลยทีเดียว
โดยประเทศที่อยู่ใน 10 อันดับแรก ที่บริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากที่สุดในโลกในปี พ.ศ.2563 ได้แก่
01 จีน
02 อินโดนีเซีย
03 เวียดนาม
04 อินเดีย
05 ญี่ปุ่น
06 สหรัฐอเมริกา
07 ฟิลิปปินส์
08 เกาหลีใต้
09 ไทย
10 บราซิล
แต่ทั้งนี้ถ้าเทียบตัวเลขการบริโภคต่อจำนวนประชากร พบว่า เกาหลีใต้ คือประเทศที่กินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากที่สุดในโลก ที่ 80 เสิร์ฟต่อคนต่อปี ตามมาติดๆคือ เวียดนาม ที่ 72 เสิร์ฟต่อคนต่อปี ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 3
5 อันดับประเทศที่บริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต่อจำนวนประชากรมากที่สุด ข้อมูลปี พ.ศ.2563 ได้แก่
01 เกาหลีใต้
อัตราการบริโภค 4,130,000,000 เสิร์ฟ
จำนวนประชากร 51,800,000 คน
เท่ากับ 80 เสิร์ฟต่อคนต่อปี
หรือภายใน 4.5 วัน คนเกาหลีจะทานบะหมี่หนึ่งครั้ง
02 เวียดนาม
อัตราการบริโภค 7,030,000,000 เสิร์ฟ
จำนวนประชากร 97,300,000 คน
เท่ากับ 72 เสิร์ฟต่อคนต่อปี
หรือภายใน 5 วัน คนเวียดนามจะทานบะหมี่หนึ่งครั้ง
03 ไทย
อัตราการบริโภค 3,710,000,000 เสิร์ฟ
จำนวนประชากร 70,000,000 คน
เท่ากับ 53 เสิร์ฟต่อคนต่อปี
หรือภายใน 6.8 วัน คนไทยจะทานบะหมี่หนึ่งครั้ง
04 ญี่ปุ่น
อัตราการบริโภค 5,970,000,000 เสิร์ฟ
จำนวนประชากร 125,800,000 คน
เท่ากับ 47 เสิร์ฟต่อคนต่อปี
หรือภายใน 7.6 วัน คนญี่ปุ่นจะทานบะหมี่หนึ่งครั้ง
05 อินโดนีเซีย
อัตราการบริโภค 12,640,000,000 เสิร์ฟ
จำนวนประชากร 273,500,000 คน
เท่ากับ 46 เสิร์ฟต่อคนต่อปี
หรือภายใน 7.8 วัน คนอินโดนีเซียจะทานบะหมี่หนึ่งครั้ง
----
#ปลากระป๋อง #cannedfish
#EDTInsider #SEARCHING #SIGNATURE
#เพราะเราเชื่อว่าทุกอย่างมีลายเซ็นต์ #EDTGUIDE