จากภาพเลือนตาสู่หลังคาสะเมิง บทความจากหนังสือ อสท.ที่เราเคยได้อ่านเมื่อหลายปีก่อน
เป็นเสมือนหนังสั้นไม่กี่นาทีที่ตราตรึงและเชิญชวนให้มีโอกาสไปเยือนที่แห่งนี้สักครั้ง
สะเมิง แปลว่าอะไรไม่อาจทราบได้ แต่สำหรับเราชื่อสั้นๆ ชื่อนี้
เหมือนมีมนต์บางอย่างที่หากถามใครคงไม่เข้าใจเท่าไปพิสูจน์ด้วยตัวเอง
อ.สะเมิง อำเภอหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ เป็นอำเภอที่หลายคนอาจไม่คุ้นหูนัก
แต่ถ้าคอสตรอว์เบอร์รีจะรู้ว่าที่นี่เป็นแหล่งปลูกสตรอว์เบอร์รีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
เส้นแม่ริม-สะเมิงในช่วงปลายปี แค่ขับรถเล่นก็มีความสุข
เพราะคุณจะเห็นพ่อค้าแม่ค้านำสตรอว์เบอร์รีมาตั้งแผงขายริมถนนทั้งสองข้างทาง
ไร่นภ – ภูผา อ่านว่า นะ-พะ-ภู-ผา หลงอ่านว่า นบ-ภูผา มาตั้งนาน
ชื่อนี้มาจากชื่อลูกชายทั้งสองคนของเจ้าของไร่
นภ- มาจาก นภา ที่แปลว่า ท้องฟ้า ส่วน ภูเขา ก็คือ ภูเขา นั่นเองค่ะ
เป็นไร่แรกๆที่บุกเบิกการทำไร่สตรอว์เบอร์รีตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ
พี่ไก่ เจ้าของไร่ท่าทางคล่องแคล่วใจดีไปรับเราที่บ้านม่อนม่วน ตรงเวลาเป๊ะ
ครั้งแรกที่พบกับพี่ไก่ รู้สึกเหมือนเคยเจอที่ไหนมาก่อน เราสองคนสนทนากันประหนึ่งญาติสนิท
ที่ไม่ได้เจอกันมานาน พูดคุยอย่างถูกคอ เห็นได้ชัดว่าพี่ไก่เป็นคนที่อัธยาศัยดีมาก
ระหว่างทางพี่ไก่ได้แต่พูดว่าไร่พี่บ้านๆ นะ อยู่กันแบบเรียบง่าย น้องอาจไม่ชอบก็ได้ แต่พอไปถึง...
โอวว..พี่ นี่มันสวรรค์ชัดๆ ไร่สตรอว์เบอร์รี นาข้าว ท่ามกลางขุนเขาและธรรมชาติรายล้อม
ยืนเพ้อและเคลิ้มกับภาพที่เห็นเบื้องหน้า จนพี่ไก่ทักว่าโลกสวยนะเรา 55
ชีวิตชาวไร่ไม่ได้สบายตื่นมาสวยๆ เก็บสตรอว์เบอร์รีแบบในละคร
(ไร่นี้เคยเป็นที่ถ่ายละครเรื่องกลรักสตรอว์เบอร์รีไร่พระเอกนั่นล่ะ)
แต่เอาเถอะพี่บอกได้คำเดียวว่าอิจฉามากค่ะ
นอกจากจะเป็นไร่สตรอว์เบอร์รีแล้ว ที่นี่ยังเปิดเป็นร้านอาหาร
มีชา กาแฟ ให้บริการด้วยค่ะ
มีมุมให้นั่งพักผ่อนรออาหารแบบล้านนาด้านล่าง
หรือจะไปนั่งชิลล์ๆ ชั้น 2 ก็มีมุมน่านั่งไม่แพ้กันค่ะ
พี่ไก่ชวนขึ้นไปทานข้าวก่อนจะปล่อยให้เราถ่ายภาพที่ไร่ได้ตามสบาย
ยำสตรอว์เบอร์รีกับน้ำปั่นถูกเอามาเสิร์ฟตรงหน้า มันช่างน่ากินอะไรปานนี้
อิ่มท้องแล้วจะพาไปเที่ยวไร่ให้ทั่ว
ที่นี่ค่อนข้างกว้างขวางจากเดิมปลูกสตรอว์เบอร์รีเป็นหลัก
หลังๆ เริ่มปรับเปลี่ยนเป็นนาข้าว
และปลูกสตรอว์เบอร์รีเพื่อให้นักท่องเที่ยวที่ไปพักที่นี่ได้มีโอกาส
ชม ชิม แชะภาพ
ไม่ได้ปลูกเพื่อขายเป็นหลักอย่างเช่นเมื่อก่อน
สตรอว์เบอร์รีของที่ไร่ เป็นพันธุ์พระราชทาน 80
ซึ่งเป็นพันธุ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชทานให้เกษตรกรเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา
80 พรรษา เมื่อปี 2550 แม้ลูกจะเล็ก ไม่ใหญ่อลังการเหมือนพันธุ์อื่น
แต่มีลักษณะเด่นตรงที่ผลสุกจะเนื้อแน่น สีแดงสด หวานอมเปรี้ยว
แต่น่าเสียดายวันที่เราไป (กลางเดือน พย.57) สตรอว์เบอร์รียังไม่แดงเท่าไร
ถ้าธันวาคมเป็นต้นไปคงแดงสวยงามไปทั้งไร่
อย่างที่บอกไว้ว่าที่นี่นอกจากจะมีสตรอว์เบอร์รี ทุ่งนา ร้านอาหาร ชา กาแฟ
ยังมีห้องพักไว้บริการด้วย ราคาก็ไม่แพงด้วยนะ
ใครจะขนเต็นท์ไปกางก็มีบริเวณให้ปักเสาเพียบเลย
พี่ไก่อาสาพาไปชมบ้านพักด้วยรถคันนี้ เท่มากพูดเลย
เราไปดูบ้านปูนสองหลังที่อยู่ไกลโพ้นกันก่อน
ถามพี่ไก่ว่าบ้านพักที่นี่สไตล์ไหนคะ
พี่ไก่ตอบว่า สไตล์ตามใจพี่อยากอยู่แบบไหนก็สร้าง
โอเคค่ะพี่ อินดี้สุดๆ ^^
บ้านแต่ละหลังมี 2 ห้องนอน 2ห้องน้ำ
ตกแต่งเรียบง่าย มีเตียงขนาดใหญ่ ทีวี
โดดเด่นด้วยรูปวาดใส่กรอบขนาดใหญ่บนหัวเตียง
หลังนี้ไม่มีแอร์ แต่ในอนาคตพี่ไก่บอกว่ามีแน่นอน
ในหน้าหนาวบอกเลยว่าเครื่องปรับอากาศแทบไม่ต้องเปิด
บริเวณหน้าบ้านมีโซฟาให้นั่งชมวิว
แต่เด็ดสุดต้องขึ้นไปบนดาดฟ้าค่ะ
มุมจากดาดฟ้าในช่วงเวลาพระอาทิตย์ตก นั่งมองจากมุมนี้สวยที่สุดค่ะ
เสียดายที่ต้องรีบกลับอดได้รูปสวยๆ เลย
ไปต่อที่บ้านหลังใหญ่สุด หลังนี้รองรับได้เป็นสิบคน
มีห้องน้ำด้านบนห้องใหญ่พร้อมอ่างอาบน้ำ
เค้าน์เตอร์แต่งตัวพร้อมกระจกบาน
ชอบห้องน้ำปูนเปลือยแบบนี้มาก
และราวตากผ้าแบบนี้เข้ากันได้อย่างลงตัว
เรารู้สึกได้ว่าหากมาพักบ้านนี้เหมือนไปนอนบ้านญาติ
ที่เหมือนวันรวมกันเยอะๆ
บรรยากาศอบอุ่นๆ เกิดขึ้นบริเวณนอกชาน
คิดถึงวันที่ลูกหลานล้อมวงทานข้าวกันพร้อมหน้าพร้อมตา
พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย
นั่งเล่นที่บ้านหลังนี้อยู่นานเพราะอากาศเย็นสบาย อากาศถ่ายเท
ยืนทอดอารมณ์มองวิวนาข้าวกับภูเขา อย่างสบายใจ
เราไปต่อกันที่บ้านดินอยู่ใกล้ๆ กันถัดไปนิดเดียว
แค่เปิดประตูเข้าไปก็สัมผัสถึงความเย็น
เป็นบ้านที่แทบไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศหรือพัดลม
เย็นสบายน่านอนมาก บ้านดินมีเค้าเตอร์บาร์เล็กๆ ตรงกลางบ้าน
ซ้ายขวาเป็นห้องนอน2 ห้อง แต่ละห้องตกแต่งเรียบง่าย
มีกรอบรูปอันใหญ่โดดเด่นมาก ทีวีเครื่องเล็ก
ตู้เสื้อผ้าแบบโบราณ เตียงนอนขนาด 2คนกำลังอุ่น และห้องน้ำ 1 ห้อง
ซึ่งห้องน้ำทำเป็นทางเดินเล็กๆ ซ้ายมือ
ห้องน้ำนี่กว้างทีเดียวค่ะ
ไปดูบ้านพักที่สุดคลาสสิก นั่นก็กระท่อมหลังน้อย
เปิดประตูเข้าไปก็มีเตียงนอน
ไม่มีเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์อำนวยความสะดวกอะไร
หากคุณมีใจรักความเรียบง่ายแนะนำให้พักหลังนี้เลย
ราคาบ้านพักเริ่มต้น 500 บาท ขึ้นอยู่กับจำนวนคนที่พัก
ทั้งนี้ทั้งนั้นโทรไปสอบถามพี่ไก่ได้เลยค่ะ
หากถามว่าถ้าเป็นเราจะพักหลังไหน เป็นคำถามที่ตอบยากนะ
เพราะแต่ละหลังมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง
แต่ถ้าถามว่าจะไปที่นี่อีกมั้ย ตอบแบบไม่ลังเลยค่ะว่าไปแน่นอน!
ความสุขแบบเรียบง่ายที่ไร่แห่งนี้ รู้สึกประทับจนต้องมาบอก
ปลายปีนี้หากยังไม่มีแพลนไปเที่ยวที่ไหน
ไร่นภ-ภูผา ยินดีต้อนรับทุกท่านนะคะ
การเดินทาง - จากอำเภอเมืองเชียงใหม่ สามารถเข้าถึงได้ 2 ทาง คือ ทางแม่ริม-สะเมิง
ตามทางหลวงหมายเลข 1196 ระยะทาง 52 กิโลเมตร และทางอำเภอหางดง
ตามทางหลวงหมายเลข 1269 ระยะทาง 44 กิโลเมตร
ซึ่งทางจะคดเคี้ยวมากกว่า ไปไร่ไม่ถูกโทร.081-6039800
เรียบเรียงโดย BlackPearl